http://deloplen.com/afu.php?zoneid=2790672

วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Paradoxocracy (2013) ประชาธิป ไทย

Paradoxocracy (2013) ประชาธิป ไทย เรื่องราว เสื้อเหลืองอาจบอกเราแดง เสื้อแดงอาจบอกหน่อมแน้ม หนังประชาธิป’ไทย จาก ภาสกร - เป็นเอก หลังจากที่ได้นำเสนอข่าวการสร้างหนังเรื่องใหม่ของ ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง เรื่อง "ประชาธิป’ไทย" ที่สร้างขึ้นจากความสงสัยในคำว่า "ประชาธิปไตย" พร้อมดึง 14 นักวิชาการ มาร่วมถ่ายทอดมุมมองทางการเมือง และตีแผ่เรื่องราวที่ชวนให้ขบคิด โดยได้ เอก ภาสกร ประมูลวงศ์ มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วยแล้วนั้น มาล่าสุด (22 พฤษภาคม 2556) ได้มีการปล่อยตัวอย่างแรกจากหนังเรื่องนี้ให้ได้ชมกันแล้ว ก่อนหน้านี้ ต้อม เป็นเอก ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดในการทำหนังเรื่องนี้ว่า ตนสงสัยว่า ประชาธิปไตย คืออะไร? เพราะอะไร? เมื่อก่อนตนไม่ค่อยได้สัมผัสกับเรื่องของการเมืองสักเท่าไร จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงได้รู้สึกได้ว่า การเมืองได้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น เวลาเราคุยกับเพื่อน ก็จะมีเรื่องการเมืองมาอยู่ในวงสนทนา บวกกับความเป็นไปของสังคม ตนเลยคิดว่ามันน่าจะดีที่เราจะทำงานสักชิ้นอย่างน้อยก็เพื่อให้ตัวเองได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะเรื่องราวความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่เมื่อยิ่งค้นก็ยิ่งเกิดคำถามมากขึ้น ต้อม เป็นเอก ยังกล่าวอีกว่า เนื้อหาโดยรวมของหนังเรื่องนี้ ได้นำเสนอแนวคิด และบทวิเคราะห์ของนักวิชาการ ที่มีต่อคำว่า ประชาธิปไตย ไว้อย่างหลากหลาย ซึ่งนักวิชาการแต่ละท่านต่างก็เป็นบุคคลสำคัญ จึงทำให้ตนมีความกระตือรือร้น และเฝ้ารอเวลาที่จะได้ไปเจอกับบุคคลเหล่านี้ เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่ซื้อไม่ได้ ตนรู้สึกว่าตัวเองมีบุญมากที่ได้พูดคุยกับนักวิชาการทุกท่าน เรื่องราวที่ได้ยิน นอกจากจะไม่ทำให้รู้สึกเบื่อแล้ว แต่กลับทำให้ตนตาลุกวาว เพราะมันไม่เหมือนในแบบเรียนที่เคยเรียนกันมา เหมือนเป็นการเล่ากึ่งวิเคราะห์คละเคล้ากันไป ปัจจุบันความขัดแย้งมันกว้างมาก ถึงเราไม่เดินเข้าไปหาการเมือง การเมืองก็เดินเข้ามาเราอยู่ดี ตอนนี้ทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์กที่แสดงความเห็นและโต้แย้งกันอย่างอิสระ เริ่มมีความสงสัยในระบอบอำนาจ โดยธรรมชาติแล้ว คนไทยถูกล้างสมอง ถูกหล่อหลอมกันมาแต่ไหนแต่ไรว่าต้องสยบให้กับอำนาจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัจจุบันโครงสร้างอำนาจแบบเดิมถูกตั้งคำถามมากขึ้น เมื่อก่อนเราสามารถไหว้คนได้เหมือนกับไหว้ศาลพระภูมิเลย แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น หนังเรื่องนี้เลือกวางโครงสร้างโดยใช้กาลเวลา เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปฏิวัติ 2475 ตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติ, กบฏบวรเดช, สงครามโลก, สวรรคตรัชกาลที่ 8, เหตุการณ์เดือนตุลาคม, พฤษภาทมิฬ จนถึงปัจจุบัน ก่อนจะตามหาผู้เชี่ยวชาญมาบอกเล่า บางคนติดต่อไม่ได้ ต้องปล่อยไป บางคนเคยคุยกันก่อน พอจะเอากล้องไปถ่ายจริงกลับไม่เอาด้วย หรือบางคนเคยคุยกันแล้วอีกแบบหนึ่ง แต่พอเอากล้องไปถ่ายจริงกลับคุยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหนังเรื่องนี้ต้องการจะบอกให้คนลุกขึ้นมาดีเบตกัน ที่สำคัญตนไม่อยากให้คนที่ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วคิดว่า คนทำพยายามเป็นกลาง เพียงแต่มันบังเอิญมีมุมมอง มีอคติที่แตกต่างหลากหลายในหนึ่งประเด็น เราแค่พยายามจะบอกคนดูว่า อย่าเชื่อมุมเดียว โดยวันแรกที่นำหนังเรื่องนี้ไปฉายให้กลุ่มนักวิชาการดูพร้อมกัน หลังจบเขาเถียงกันตลอดตั้งแต่ 3 ทุ่มยันตี 1 เพราะแต่ละคนต่างก็มีจุดยืนไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก ทำให้รู้ว่ายังขาดจุดไหนบ้าง และหลังจบโปรเจคท์ประชาธิป'ไทย พวกตนก็ได้วางแผนจะสานต่อประชาธิป'ไทย ภาค 2 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ยังขาดและน้อยเกินไปในภาคแรก อย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ 19 กันยายน กับประเด็นมาตรา 112 ขณะที่ ภาสกร กล่าวว่า เด็กรุ่นนี้หวังได้บ้างไม่ได้บ้าง เราจึงต้องไปหวังกับคนรุ่นหน้าแทน ถ้าเราไม่เตรียมอะไรไว้ให้เขา ก็อย่าหวังเลยว่า เขาจะไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ตอนนี้ที่มันสามารถเดินไปข้างหน้าได้ เพราะสภาพสังคมชี้นำให้เป็นอย่างนั้น คนไทยชอบคิดว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่โต หรูหรายิ่งใหญ่ระดับโลก แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่เลย สมมติว่านั่งรถกันไป 3 คน พ่อ แม่ ลูก แม่อยากไปกินอาหารญี่ปุ่น พ่ออยากไปกินอาหารไทย ลูกอยากไปกินอาหารฝรั่งเศส ก็เอาประชาธิปไตยมาใช้ได้ สุดท้ายแล้วตัวเลือกที่ทั้ง 3 คนเลือกกันได้แล้วมันดีและลงตัวที่สุด นั่นคือประชาธิปไตย เพราะมีการเลือกและมีข้อสรุปเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นเอก ได้กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับฟีดแบ็คของหนังประชาธิป'ไทยชิ้นแรกนี้ ความจริงได้สัก 2-3 หมื่น พวกตนก็แฮปปี้แล้ว ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังจากหนังฉาย คาดว่า เสื้อเหลืองอาจบอกว่าเราแดง เสื้อแดงอาจจะบอกว่าเราหน่อมแน้ม หรือเป็นพวกสลิ่มก็ได้ (หัวเราะ)...... Paradoxocracy https://plus.google.com/photos/103976068298585336999/albums/5950723300018277249?authkey=CKLc7qzLkYLD2gE